ทำความรู้จัก Key Partners สำคัญยังไงกับ Business Model Canvas

ทำความรู้จัก Key Partners สำคัญยังไงกับ Business Model Canvas

Business Model Canvas เป็นอีกตัวช่วยที่จะทำให้มองเห็นภาพรวมกลยุทธ์ของธุรกิจ เพื่อพิจารณาความเสี่ยงและความได้เปรียบทางธุรกิจ ว่าแต่ Business Model Canvas นั้นมีองค์ประกอบที่สำคัญคืออะไรบ้าง สร้างขึ้นมาอย่างไร แล้วพันธมิตรหลัก หรือ Key Partners คืออะไร สำคัญขนาดไหน ไปดูกัน

อะไรคือ Business Model Canvas

อะไรคือ Business Model Canvas

Business Model Canvas หรือเรียกย่อๆ ว่า BMC คือ เครื่องมือที่ใช้ในการช่วยวางแผนกลยุทธ์ในการทำธุรกิจและออกแบบโมเดลธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้มองเห็นภาพรวมมากยิ่งขึ้น สามารถนำมาวิเคราะห์การตลาด กลุ่มลูกค้า สินค้าและบริการ วางแผนการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นระบบ และประเมินความเสี่ยงในด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงให้ทุกคนในองค์กรมีความเข้าใจตรงกัน โดย Business Model Canvas สามารถอธิบายธุรกิจได้ ดังนี้

  • ธุรกิจสามารถสร้างรายได้อย่างไร มาจากแหล่งใดบ้าง
  • กลยุทธ์ที่ได้วางแผนไว้จะได้ประโยชน์ที่คุ้มค่าหรือไม่
  • กลุ่มลูกค้าของธุรกิจคือใคร
  • แผนในการดำเนินธุรกิจคืออะไร
  • สามารถส่งมอบคุณค่าได้อย่างไร

Business Model Canvas สำคัญต่อธุรกิจยังไง

Business Model Canvas สำคัญต่อธุรกิจยังไง

  • ทำให้สามารถวิเคราะห์ภาพรวมของธุรกิจทั้ง จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และความเสี่ยงที่จะเข้ามากระทบธุรกิจ
  • เนื่องจากเป็นโมเดลที่เขียนบนหน้ากระดาษเพียงหน้าเดียวเท่านั้น จึงทำให้มองเห็นภาพรวมของธุรกิจได้รวดเร็ว
  • นำมาใช้ช่วยปรับปรุงกลยุทธ์และวางแผนในด้านต่างๆ
  • ทำให้ทุกคนในองค์กรเข้าใจแผนงานและกลยุทธ์ของธุรกิจได้ชัดเจน และไปในแนวทางเดียวกัน
  • สามารถนำ Business Model Canvas ไปใช้งานได้กับทุกธุรกิจ ตั้งแต่บริษัทขนาดเล็กแบบ Start Up ไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ระดับโลก
Business Model Canvas มีองค์ประกอบอะไรบ้าง

Business Model Canvas มีองค์ประกอบอะไรบ้าง

Business Model Canvas มีองค์ประกอบสำคัญที่ใช้การวิเคราะห์ธุรกิจทั้งหมด 9 องค์ประกอบด้วยกัน ดังนี้

1. Key Partners (KP)

Key Partners คือ คู่ค้า หุ้นส่วน หรือพันธมิตรหลักในการดำเนินธุรกิจในประสบความสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย เนื่องจากการทำธุรกิจเราอาจไม่สามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตัวเองทั้งหมด การมีพันธมิตรหลักที่ดีในการหาวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ช่วยเหลือในเรื่องประชาสัมพันธ์ ร่วมมือในการพัฒนาสินค้าและบริการ จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้ดีและมีความน่าเชื่อถือ โดยพันธมิตรหลักประกอบด้วย 4 รูปแบบ ดังนี้

  • พันธมิตรร่วมซื้อ-ขาย 

เป็นพันธมิตรหลักที่สามารถพบเห็นได้บ่อยที่สุด มีส่วนในการจัดหาวัตถุดิบที่ดีและมีคุณภาพให้กับสินค้าและบริการของคุณ ช่วยให้มีแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือและเป็นระบบ

  • พันธมิตรร่วมมือ

เป็นพันธมิตรหลักที่มีการร่วมมือกันกับบริษัทอื่นที่เป็นคู่แข่งกัน เช่น ผลิตสินค้าแบบเดียวกัน มาร่วมมือกันเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับอุตสาหกรรม ช่วยลดความเสี่ยง และสร้างการทำงานร่วมกัน

  • พันธมิตรร่วมค้า 

เป็นพันธมิตรหลักที่มาร่วมมือกันเพื่อพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ หรือสินค้าใหม่ๆ สำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายกลุ่มใหม่

  • พันธมิตรทางกลยุทธ์

เป็นพันธมิตรหลักที่ไม่ใช่คู่แข่งกันมาร่วมมือกัน เพื่อกำหนดเป้าหมายร่วมกันที่จะนำไปสู่ความเข้มแข็งของธุรกิจที่แตกต่างกัน

หลักการเลือก Key Partners ยังไง

  • คำนึงถึงพันธกิจของธุรกิจเป็นสำคัญ โดยเลือกพันธมิตรหลักที่มีข้อเสนอตรงตามความต้องการและมีความจำเป็น
  • หุ้นส่วนต้องมีศักยภาพเหมาะสมในเชิงภูมิศาสตร์ เช่น สามารถขนส่งวัตถุดิบได้สะดวกรวดเร็ว
  • ข้อตกลงในการร่วมมือกันต้องมีความสมเหตุสมผล และส่งเสริมกันทำให้ธุรกิจแข็งแกร่งกว่าคู่แข่ง
  • โมเดลธุรกิจของพันธมิตรหลัก ต้องมีความเหมาะสมกับโมเดลธุรกิจโดยรวมของคุณ ตามที่ได้เขียน Business Model Canvas เอาไว้

2. Key Activities (KA)

Key Activities คือ กิจกรรมหลักที่ธุรกิจมีหน้าที่ต้องทำ เพื่อให้ธุรกิจขับเคลื่อนไปข้างหน้า โดยมุ่งเน้นที่การสร้างคุณค่าให้แก่ลูกค้า เข้าถึงตลาด รักษาความสัมพันธ์กับลูกค้า และสร้างรายได้ สามารถแบ่งกิจกรรมหลักได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้

  • ด้านการผลิต 

เริ่มตั้งแต่การออกแบบ การผลิต และการส่งมอบสินค้า ในปริมาณที่มากและคุณภาพที่สูง

  • ด้านการแก้ปัญหา 

โดยการคิดหาวิธีแก้ปัญหาใหม่ๆ หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้

  • ด้านแพลตฟอร์มและเน็ตเวิร์ก

สำหรับธุรกิจที่มีโมเดลธุรกิจที่ใช้แพลตฟอร์มและเน็ตเวิร์กเป็นกิจกรรมหลัก จะต้องมีการพัฒนาและบำรุงรักษาแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง โดยมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดการแพลตฟอร์ม การจัดหาบริการ และการโปรโมตแพลตฟอร์ม ร่วมด้วย

3. Key Resources (KS)

Key Resources คือ ทรัพยากรหลักที่สำคัญกับธุรกิจในการดำเนินกิจการ โดยสามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภท คือ 

  • ทรัพยากรทางกายภาพ 

อันได้แก่ โรงงาน อาคาร เครื่องจักร ยานพาหนะ วัตถุดิบ รวมถึงระบบต่างๆ และเครือข่ายในการกระจายสินค้า ก็นับว่าเป็นทรัพยากรทางกายภาพด้วยเช่นกัน

  • ทรัพย์สินทางปัญญา  

ผลงานต่างๆ ที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ หรือสิ่งประดิษฐ์ ที่สามารถพัฒนาได้ยากแต่ถ้าหากทำสำเร็จอาจมีมูลค่าสูงมาก เช่น แบรนด์ สิทธิบัตร และลิขสิทธิ์ รวมถึงพันธมิตรและฐานข้อมูลลูกค้า

  • ทรัพยากรบุคคล 

บุคลากรถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญมากในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจในอุตสาหกรรมที่ใช้ความรู้ ประสบการณ์ และความคิดสร้างสรรค์สูงมาก เช่น บริษัทที่เกี่ยวกับเภสัชกรรม จำเป็นจะต้องมีนักวิทยาศาสตร์ที่มีประสบการณ์สูง และพนักงานขายที่มีทักษะการขายดีมาก

  • ทรัพยากรทางการเงิน

ในบางธุรกิจมีความต้องการในทรัพยากรทางการเงินและการประกันทางการเงิน เช่น เงินสด วงเงินสินเชื่อ หรือ หุ้นออปชัน เพื่อให้สิทธิพิเศษในการซื้อหุ้นสำหรับการจ้างพนักงานในบางตำแหน่ง

4. Value Propositions (VP)

Value Propositions คือ คุณค่าของสินค้าหรือบริการที่ส่งมอบให้กับลูกค้า ว่าสินค้าหรือบริการจะเข้าไปตอบสนองความต้องการของลูกค้าและช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไร โดยคุณค่านั้นอาจจะเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ หรือเป็นสินค้าที่มีอยู่แล้วแต่มีคุณสมบัติและลักษณะที่เด่นกว่าที่อื่น ซึ่งคุณค่านี้จะทำให้ลูกค้าหันมาสนใจบริษัทของเรามากกว่าของคู่แข่ง

5. Customer Relationships (CR)

Customer Relationships เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างยิ่ง เพราะคือการสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า ทั้งลูกค้าประจำและลูกค้าใหม่ โดยสามารถสร้างความสัมพันธ์ได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ การใช้บริการอัตโนมัติอย่างการทำ Chatbot ที่รวบรวมคำถามที่ถูกถามบ่อย พร้อมแนวทางการแก้ปัญหาเพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงมี Call Center หรือบริการอื่นๆ ที่คอยให้ความช่วยเหลือเป็นส่วนบุคคล    

6. Channels (CH)

Channels คือ ช่องทางในการเข้าถึงลูกค้า สำหรับการติดต่อสื่อสาร นำเสนอสินค้า และการซื้อขายสินค้า ซึ่งการที่ธุรกิจจะเลือกใช้ช่องทางใด จะต้องพิจารณากลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยช่องทางจะแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

  • ช่องทางที่เป็นเจ้าของ 

เป็นช่องทางสื่อสารโดยตรงกับลูกค้า เช่น เว็บไซต์ของบริษัท ร้านค้าปลีกที่เป็นเจ้าของ สื่อสังคมออนไลน์อย่าง Facebook, Instagram หรือ Line Official Account

  • ช่องทางของพันธมิตร  

เป็นช่องทางสื่อสารทางอ้อม เช่น เว็บไซต์ของพันธมิตรหลัก จำหน่ายแบบค้าส่ง หรือจำหน่ายแบบค้าปลีก ตามร้านค้าต่างๆ ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของ

7. Customer Segments (CS)

Customer Segments คือ กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเราคือใคร เป็นกลุ่มลูกค้าที่เป็นวงกว้าง หรือเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม ต้องมีการแบ่งกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจนเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น โดยอาจแบ่งกลุ่มลูกค้าได้จากช่วงอายุ เพศ อาศัยอยู่ที่ประเทศไหน อยู่ที่จังหวัดไหน รายได้เท่าไร สนใจในเรื่องอะไรบ้าง และมีพฤติกรรมการบริโภคเป็นแบบใด

8. Cost Structure (C$)

Cost Structure หรือก็คือ ต้นทุนในการทำธุรกิจทั้งหมด ที่ทำให้ธุรกิจสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้า โดยโมเดลธุรกิจแต่ละธุรกิจจะมีโครงสร้างต้นทุนที่แตกต่างกัน แต่สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ตามความขับเคลื่อน ดังนี้

  • การมุ่งที่ต้นทุน (Cost-driven)                                                         

โดยการลดต้นทุนให้น้อยที่สุด เพื่อให้สามารถขายสินค้าในราคาถูกมากๆ ได้ อาจเป็นการใช้ระบบอัตโนมัติในแทบทุกขั้นตอน หรือการจ้างพนักงานก็เป็นการจ้างแบบชั่วคราว 

  • การมุ่งที่คุณค่า (Value-driven)

สำหรับในบางธุรกิจจะให้ความสำคัญในเรื่องของการสร้างคุณค่ามากกว่าการคำนึงถึงต้นทุน สร้างความประทับใจให้กับลูกค้าในระดับพรีเมียม เช่น โรงแรมหรู กระเป๋าแบรนด์เนม หรือสายการบินเฟิร์สคลาส 

9. Revenue Streams (RS)

Revenue Streams คือ ช่องทางรายได้หลักของธุรกิจ ว่ามาจากที่ไหนบ้าง ซึ่งอาจพิจารณาได้จากกลุ่มลูกค้าว่าสะดวกจ่ายในรูปแบบใด ตัวอย่างที่มารายได้ เช่น การขายสินค้าหรือบริการ ค่าธรรมเนียมการใช้งาน ค่าสมัครสมาชิกแบบรายเดือนและรายปี การให้เช่ายืม ค่าลิขสิทธิ์ ค่าธรรมเนียมนายหน้า และค่าโฆษณา

ตัวอย่างธุรกิจที่ทำ Business Model Canvas

ตัวอย่างธุรกิจที่ทำ Business Model Canvas

เมื่อได้รู้จักกับ 9 องค์ประกอบ ของ Business Model Canvas กันไปแล้ว เพื่อให้เห็นภาพรวมมากยิ่งขึ้น เรามาดูตัวอย่าง Business Model Canvas ของธุรกิจที่น่าสนใจกันบ้างว่ามีอะไรบ้าง

Apple computers

บริษัทที่จำหน่ายสินค้าที่เป็นที่นิยมอย่าง iPhone, iPad, Apple Watch, และ MacBook และมีบริการอื่นๆ เช่น Apple TV+, Apple Fitness+, Apple Music, iCloud+, และ Apple Arcade ภาพรวมของ Business Model Canvas จะพบว่า Customer Segments ของ Apple ผู้ซื้อผลิตภัณฑ์จะเป็นผู้ที่ซื้อเพราะประสิทธิภาพการทำงานระดับสูง แต่บางกลุ่มก็ซื้อเพราะชื่อเสียงของแบรนด์ และผู้สมัครสมาชิกบริการต่างๆ ก็จะเป็นคนกลุ่มเดียวกับที่ซื้อสินค้า อีกจุดเด่นหนึ่งของ Apple ก็คือช่องทางการจัดจำหน่าย จะจำหน่ายผ่านเว็บไซต์และหน้าร้านของตัวเอง และร้านที่เป็นตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง

Burger King

Burger King ร้านอาหาร Fast Food ชื่อดังของสหรัฐอเมริกา มีสาขากระจายตัวอยู่ทั่วโลก โดย Business Model Canvas ของ Burger King จะเห็นว่า Channels มีทั้งแบบนั่งทานในร้านและแบบ Drive-Thru และมี Key Partners คือ Coca-Cola ซึ่งถือว่าเป็นพันธมิตรหลักที่แข็งแกร่งมากเลยทีเดียว

Airbnb

แพลตฟอร์มที่ช่วยให้นักท่องเที่ยวสามารถจองห้องพักในประเทศต่างๆ ได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น เมื่อดู Business Model Canvas ของ Airbnb จะเห็นว่า Cost Structure หลักของบริษัทจะเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลแพลตฟอร์ม การตลาด และพนักงานสำหรับให้ความช่วยเหลือ และมีรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมจากเจ้าของห้องพักและแขกที่เข้าพัก โดย Airbnb ไม่จำเป็นต้องมีห้องพักเป็นของตัวเองเลย

สรุป

Business Model Canvas คือ เครื่องมือที่ช่วยวางแผนกลยุทธ์ในการทำธุรกิจ ทำให้เห็นภาพรวมในด้านต่างๆ ได้สะดวกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และความเสี่ยง รวมถึงสามารถนำมาใช้ได้กับทุกธุรกิจ การเลือกพันธมิตรหลักหรือ Key Partners คือหนึ่งในหัวใจสำคัญทำให้ธุรกิจเติบโตได้ดี มีความน่าเชื่อถือ และเพื่อกำหนดทิศทางธุรกิจที่ดีในอนาคต